10 กติกาใช้ถนนร่วมกันกับจักรยาน

ขออนุญาต Share บทความน่าสนใจของ Blog oyspace.wordpress.com มาให้ได้อ่านกันค่ะ เรื่อง 10 กติกาใช้ถนนร่วมกันกับจักรยาน collection of writings by a naturalist living in Bangkok

https://i0.wp.com/farm2.staticflickr.com/1270/4685158664_1c3c65d170_b.jpg

“ถนนเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นทรัพยากรส่วนกลาง มีค่าและมีอยู่จำกัด” จึงต้องจัดสรรแบ่งปันให้ยุติธรรม

ความคิดว่าถนนเป็นพื้นที่ของรถยนต์เป็นสาเหตุต้นตอของปัญหาสังคม เมืองกรุงเทพฯ มันมีอิทธิพลต่อผังเมืองและวิศวกรรมการออกแบบถนนในบ้านเรา ทำให้มันมีรูปแบบที่เหมาะสมต่อรถยนต์เป็นหลัก แทบทุกคนจึงอยากมีรถยนต์ไว้ใช้ จนถนนหนทางแน่นขนัดไปด้วยรถยนต์ส่วนตัว เข้ามาล้ำพื้นที่เลนรถเมล์ซึ่งควรเป็นสิทธิของมวลชนหมู่มาก เมื่อรถติดไปไหนไม่ได้ มอเตอร์ไซค์ก็เข้ามาตอบโจทย์ สอดแทรกลัดเลาะตามช่องว่างระหว่างรถ และป่ายปีนขึ้นทางเท้าล่วงล้ำสิทธิคนเดินถนน แถวบ้านผู้เขียน รถยนต์เองก็ชอบปีนขึ้นมาจอดอยู่บ่อยๆ ช่วยกันพ่นไอเสีย ทำลายอากาศหายใจ สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

https://i0.wp.com/www.nutsbike.com/wp-content/uploads/2009/11/Can-we-share-the-road.jpg

ไฟจราจร ทางข้ามถนน ระบบเดินรถ ทั้งระบบวิ่งทางเดียว คู่ขนาน และยูเทิร์น ทั้งหมดออกแบบให้กับรถยนต์ ผู้ใช้ถนนอื่นๆ มีสภาพเป็นลูกเมียน้อยของคนใช้ในละครช่องเจ็ดสี ต้องลีบๆ ตัวลนลานคลานผ่านตีนคุณนาย หลบหลีกอารมณ์เกรี้ยวกราดของหญิงเล็กเอาแต่ใจตัว ไฟจราจรมากมายหลายแยกไม่มีจังหวะให้คนข้ามถนน เพราะอนุญาตให้รถเลนซ้ายวิ่งได้ตลอด แยกที่มีจังหวะข้ามก็ต้องยืนปิดจมูกรอกันนานมาก

เพราะ เราคิดว่าถนนเป็นคฤหาสถ์ของรถยนต์ รถยนต์จึงเบ่งครองเมืองได้เต็มที่ วิถีเบ่งด้วยกำลังไม่ใส่ใจผู้อ่อนแอกว่ากลายเป็นวิถีปกติที่เรายอมรับสภาพ และถ่ายทอดให้ลูกหลาน

ปัญหาการล่วงเกินสิทธิการสัญจรทางเลือกปลอดมลพิษสามารถบรรเทาได้ไม่ยากด้วย การปรับรายละเอียดรูปแบบถนนที่มีอยู่แล้ว แต่ก่อนอื่นใด เรามาปรับความเข้าใจกันใหม่ดีกว่า : ถนนเป็นพื้นที่ของทุกคน เราทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นแขกผู้มาเยือน ขอยืมใช้ทรัพยากรส่วนรวม นั่นหมายความว่าเราต้องมีกติกาการใช้ถนนร่วมกัน

“เรา” หมายถึงผู้ใช้ถนนสัญจร ได้แก่ รถยนต์ต่างๆ อาทิ รถเมล์ รถเก๋ง รถบรรทุก รถแท๊กซี่ สามล้อ มอเตอร์ไซต์ รถเข็น สามล้อถีบ คนเดิน และจักรยานปั่นสองล้อ ส่วนผู้ใช้ถนนหนทางเพื่อกิจกรรมอื่น เช่น ขายของ ประท้วงรัฐบาล ฯลฯ เป็นคนละประเด็น ขออนุญาตไม่พูดถึง

เราตกลงกติกากันไม่ได้ถ้าเราไม่เข้าใจมุมมองและความต้องการของแต่ละฝ่าย ทุกวันนี้เรารู้ความต้องการของคนขับรถยนต์ เราเข้าใจหัวอกคนขึ้นรถเมล์และคนเดินถนน แม้ว่าการสัญจรโหมดนี้จะยังไม่ได้รับความยุติธรรมก็ตาม แต่คนในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจจักรยาน ในฐานะที่ผู้เขียนใช้การสัญจรทุกรูปแบบ รวมถึงเรือด้วย วันนี้จึงขอนำเสนอเฉพาะกติกาการใช้ถนนร่วมกับจักรยาน

https://i0.wp.com/www.nutsbike.com/wp-content/uploads/2009/11/How-to-minimize-accidents-between-autos-and-bicycles.jpg

จักรยานมีคุณสมบัติต่างและคล้ายกับการสัญจรอื่นๆ ดังนี้
1) ปลอดมลพิษเช่นเดียวกับคนเดิน สามล้อถีบ และรถเข็น
2) ปราดเปรียวรวดเร็วกว่าคนเดินและรถเข็น
3) ช้ากว่ารถยนต์และมอเตอร์ไซค์ในสภาพจราจรคล่องตัว แต่เร็วกว่ารถยนต์ในสภาพจราจรติดขัด
4) เลี้ยงตัวบนสองล้อ เสียสมดุลย์ได้ง่าย
5) เงียบ มีขนาดเล็ก ผู้ใช้ถนนอื่นจึงมักไม่ได้ยิน หรือมองไม่เห็น

จักรยานจึงต้องการลู่วิ่งแยกจากคนเดินและรถเครื่องทั้งหลาย เพราะสปีดไม่สอดคล้องกับการสัญจรอื่น และต้องการพื้นที่ “กันชน/กันล้ม” เพื่อความปลอดภัย

ขอนำเสนอกติกา 10 ข้อเมื่อใช้ถนนร่วมกับจักรยาน หลายข้อเป็นกติกาสากล สะสมจากประสบการณ์ร่วมมากมาย ไม่ได้นั่งเทียนเขียน อีกหลายขอเป็นสามัญสำนึก และบางข้อเป็นกรณีเฉพาะของกรุงเทพฯ ที่ต้องขอความเห็นใจกัน

https://i0.wp.com/www.tucsonbikelawyer.com/wp-content/uploads/2010/04/Flagstaff3FtSign.jpg

1).เมื่อขับผ่านจักรยาน เว้นระยะห่าง 1 เมตรระหว่างรถและจักรยาน อย่าเฉี่ยวผ่านใกล้ๆ

2).ไม่ขับรถทับเลนจักรยานบนถนนที่มีเลนจักรยาน

3).จอดรถยนต์ด้านนอกเลนจักรยาน อย่าจอดทับเลน อันนี้เป็นกฎระเบียบตามกฎหมายที่ไม่มีใครรู้

4).เปิดประตูรถโปรดระวังจักรยาน

5).เลี้ยวซ้ายหรือหยุดจอดรถ โปรดให้สัญญานไฟและดูดีๆ ก่อนเลี้ยว ระวังตัดหน้าจักรยาน

6).เมื่อจอดรอไฟแดง ปล่อยให้จักรยานจอดข้างหน้ารถยนต์และมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้ทุกคนมองเห็นจักรยานเมื่อออกรถตอนไฟเขียว

7).บางครั้งจักรยานไม่สามารถขี่ชิดซ้ายได้เพราะต้องหลีกเลี่ยงฝาท่อหรือร่อง อันตรายบนผิวถนน พื้นผิวพวกนี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อรถยนต์ แต่มันเป็นมหาภัยแก่จักรยาน ล้มได้ง่ายๆ ขอความเข้าใจ ทำใจเย็นๆ รอหน่อยนะคุณพี่ คิดเสียว่าจักรยานหนึ่งคันบนถนนหมายถึงมีรถยนต์ใช้ถนนน้อยลงไปหนึ่งคัน กินที่น้อยกว่าเยอะ พ้นอุปสรรคตรงนี้เดี๋ยวเขาก็ชิดซ้ายหลีกทางให้คุณวิ่งสบาย (แต่อย่าลืมกติกาข้อ 1 ก็แล้วกัน)
8).ไม่ขายของหรือตั้งสิ่งกีดขวางทางจักรยาน

9).คนข้ามถนนอย่าใจลอย ดูดีๆ ก่อนก้าวลงถนน จักรยานไม่มีเสียง คุณชนจักรยานคุณแค่เจ็บ จักรยานโดนคุณชนล้มบนถนนมีรถวิ่ง ถึงตายได้ง่ายๆ ผู้เขียนโดนมาแล้ว ทิ้งฟันหน้าไว้หนึ่งซี่บนถนนในกรุงลอนดอน ในกรุงเทพฯ ก็โดนมาแล้วเหมือนกัน แต่แค่เข่าถลอก

10).จักรยานวิ่งบนทางเท้าได้และใช้ทางม้าลายข้ามถนนได้ แต่ต้องเคารพสิทธิคนเดินเป็นอันดับหนึ่ง

https://i0.wp.com/blog.timesunion.com/gettingthere/files/2010/11/share-the-road1.jpg

และแน่นอนว่าจักรยานเองก็พึงปฏิบัติตามกฎจราจรเช่นเดียวกับพาหนะอื่น รู้จักหยุดให้คนข้ามทางม้าลาย และอย่าลืมติดไฟรอบตัวให้คนอื่นเห็นเวลาปั่นตอนกลางคืน เข้าใจด้วยว่าคนขับรถทรงสูงๆ อย่างรถเมล์หรือรถบรรทุกมีมุมอับ มองไม่เห็นวัตถุเล็กๆ ผอมๆ ที่อยู่ต่ำใกล้ๆ เขา ทางที่ดีอย่าเข้าไปประชิดใกล้

เอาใจเขามาใส่ใจเราได้ไม่ยากถ้าหาประสบการณ์ร่วม คนขี่จักรยานลองกลับไปขึ้นรถเมล์ และคนขับรถยนต์ลองหาโอกาสขี่จักรยาน โลกทัศน์หลากสีได้ด้วยมุมมองที่หลากหลาย

ขอขอบคุณ ที่มา: http://www.jakrayan.com
Website of Social Cycling Community

Leave a comment